การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิต (Soft skill)

โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิต ด้านทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ

หรือ Soft skill ของคณะเทคนิคการแพทย์

โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษามีความสามารถ ดังนี้ 

คณะเทคนิคการแพทย์มีปรัชญาการศึกษาคือ จัดการศึกษาที่มุ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) โดยมีแนวคิดพัฒนาคุณภาพบัณฑิตในองค์รวม 2 ทักษะหลัก คือ 1) ทักษะความรู้ (Hard Skill) เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ได้แก่ความรู้ (Knowledge) และทักษะการปฏิบัติงาน (Skill) ในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ 2) ทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skill) ประกอบด้วยทักษะหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของมนุษย์ที่จะช่วยให้เกิดการทำงานเป็นทีมร่วมกันอย่างประสบความสำเร็จ (Attitude) ได้แก่ 4C ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) การแก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ (Creativity) ทักษะการติดต่อสื่อสาร (Communication) ความสามารถในการปรับตัว ทักษะการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ (Collaboration) เป็นต้น

จากการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในคณะ เพื่อร่วมกันหาวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap Analysis) และระดมความคิดในการจัดกิจกรรมให้เสริมสร้างทักษะเชิงสมรรถนะให้แก่นักศึกษาชั้นปี 4 โดยนำข้อมูลในส่วนต่างๆ มาร่วมวิเคราะห์ ได้แก่ ผลการประเมินคุณภาพบัณฑิตเทคนิคการแพทย์  กับผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Program Learning Outcome: PLO) ที่รวบรวมและสรุปได้จากความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Needs) อาทิ ผู้ใช้บัณฑิต (User) ศิษย์เก่า นักศึกษาและอาจารย์ผู้สอน พบว่ายังคงมีช่องว่าง (Gap) ที่ต้องการการเติมเต็ม เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตโดยเฉพาะทางด้านทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ 4C รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรมด้วย ในปีที่ผ่านๆ มา การเสริมทักษะเชิงสมรรถนะมักจัดในการเรียนการสอนแต่ละวิชา เป็นการมอบหมายงานให้นักศึกษาทำเป็นกลุ่มในทุกวิชา เกิดความซ้ำซ้อนกัน นักศึกษาได้ทำงานกลุ่มมากเกินไป เบียดบังเวลาในการทบทวนการเรียนด้านอื่นๆ รวมถึงสร้างความเครียดทั้งแก่นักศึกษาที่ต้องร่วมกันทำงาน นำเสนองานที่มากเกินไป และคณาจารย์ที่ต้องกำหนดกิจกรรม ประเมินผลกิจกรรม

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จึงได้จัดโครงการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตด้านทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skill) (กิจกรรมการเรียนรู้จากสภาพจริง) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวสู่วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีเจตคติที่ดี มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น ทำงาน (เป็นทีม) ได้ แก้ไขปัญหาและสื่อสารได้ เป็นกิจกรรมที่ร่วมกันทั้งคณะ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักศึกษามีความสามารถดังนี้

1. มีทักษะปฏิบัติงานในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

2. มีจิตอาสาและสำนึกสาธารณะ ใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก

3. คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดแบบองค์รวมและเป็นระบบรวมทั้งแก้ไขปัญหาได้

4. มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และเข้าใจบทบาทวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในระบบสุขภาพ

5. ทำงานเป็นทีมในบทบาทวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้

6. บริหารจัดการห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์

7. สื่อสารสุขภาพให้คำแนะนำ เพื่อการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม

การจัดกิจกรรม โดยมีการจัด 3 กิจกรรม ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ดังนี้

1). กิจกรรมอบรมความรู้ก่อนลงชุมชน ได้แก่ อบรมหัวข้อการสื่อสารสุขภาพ การซักประวัติ การให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วย และความสัมพันธ์ระหว่างอาการทางคลินิกกับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้และความชำนาญบรรยายให้กับนักศึกษาเพื่อเตรียมความรู้เบื้องต้น ก่อนลงปฏิบัติในกิจกรรม

2). กิจกรรมศึกษาดูงาน (Study Visit) ห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์

เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในระบบสุขภาพ ระบบบริหารจัดการห้องปฏิบัติการและได้พัฒนาทักษะด้านการปฏิบัติงานวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ โดยเข้าไปศึกษาเรียนรู้ขั้นตอน กระบวนการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ในภาพรวมของโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนของงานเคมีคลินิก งานโลหิตวิทยา งานจุลชีววิทยา งานภูมิคุ้มกันวิทยา งาน จุลทรรศนศาสตร์คลินิก งานธนาคารเลือด รวมทั้งงานอื่น ๆ (ถ้ามี) เช่น งานพิษวิทยา งานอาชีวอนามัย งานพยาธิวิทยา เป็นต้น ตั้งแต่ 1) กระบวนการก่อนการวิเคราะห์ (Pre-Analytical Process) ได้แก่ งานเจาะเลือด การรับส่งสิ่งตัวอย่าง การปฏิเสธสิ่งตัวอย่าง 2) กระบวนการวิเคราะห์ (Analytical Process) และ 3) กระบวนการหลังการวิเคราะห์ (Post-Analytical Process) ได้แก่ การรายงานผลและการควบคุมคุณภาพ การบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ การไหลของงาน (Work Flow) นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานระบบการให้บริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิ (Primary Health Care) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในระบบสุขภาพขั้นปฐมภูมิ  โดยจัดในช่วง วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2565

สถานที่ดำเนินการ ห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ภาครัฐ 3 แห่ง ภาคเอกชน 9 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 18 แห่ง

3). กิจกรรมวันเทคนิคการแพทย์ไทย 29 มิถุนายน

เนื่องด้วยในวันที่ 29 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันเทคนิคการแพทย์ไทย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เพื่อให้ชุมชนมีสุขภาวะดีควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ให้มีความรู้และความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skill) นำความรู้ไปรับใช้สังคมได้อย่างมีประโยชน์ สมดังปณิธานของมหาวิทยาลัย “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม” รวมทั้งปลูกจิตสำนึก จิตสาธารณะให้แก่นักศึกษาและให้นักศึกษารู้จักบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในทีมสุขภาพ คณะเทคนิคการแพทย์ จึงได้จัดโครงการบูรณาการการเรียนการสอนกับการบริการวิชาการ “วันเทคนิคการแพทย์ไทย 29 มิถุนายน” ขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการตรวจสุขภาพ โดยให้บริการตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน (Sugar) โรคอ้วน โรคตับ (ALT) โรคไต (Creatinine) ความดันโลหิต ไขมันในเลือด (Total Cholesterol) โรคเก๊าท์ (Uric Acid)  โดยให้นักศึกษาแบ่งเป็น 6 กลุ่ม เตรียมงานและลงปฏิบัติใน พื้นที่เป้าหมาย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 6 แห่ง บริการประชาชนจำนวน 40-50 คน/ชุมชน

ผลการประเมินกิจกรรม

พบว่านักศึกษาประเมินความพึงพอใจเป็นคะแนน 4.39 (ดี) โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้นักศึกษาเห็นภาพการทำงานจริงได้ดีขึ้น นำมาใช้ปรับปรุงการเรียนก่อนไปฝึกงาน และได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม นักศึกษาส่วนใหญ่เสนอควรจัดให้มีโครงการในปีถัดไป โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น ต้องการให้เพิ่มจำนวนวันดูงานมากขึ้น ต้องการได้ดูงานมากกว่า 1 โรงพยาบาล

 

โดยสรุปเป็นแผนภูมิแนวปฏิบัติที่ดี การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตด้านทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skill) คณะเทคนิคการแพทย์ ดังนี้

   

Photo Gallery.